Newest Post




ภาพจาก dannychoo.com

            โอตาคุ คืออะไร หรือ โอตาคุ แปลว่าอะไรกันแน่ เคยได้ยินบ่อย ๆ แต่ไม่ค่อยรู้จัก งั้นลองไปทำความเข้าใจกับคนกลุ่มนี้ให้มากขึ้น 

            เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำว่า โอตาคุ กันมาบ้าง ทั้งจากอินเทอร์เน็ตหรือได้ฟังจากคนรอบ ๆ ตัว ซึ่งบางคนอาจจะมองว่าพวก โอตาคุ คือคนที่ชอบหรือคลั่งไคล้การ์ตูนญี่ปุ่นมาก ๆ มักเป็นผู้ชายที่อ้วน หน้าตาเห่ย ๆ ใส่แว่น สะพายกระเป๋าใบใหญ่ วันทั้งวันก็เอาแต่ดูหรืออ่านการ์ตูน แต่จะมีสักกี่คนที่รู้จักความหมายของ "โอตาคุ" จริง ๆ ว่าแท้จริงแล้วพวกเขาเป็นคนแบบไหน วันนี้ลองมาทำความเข้าใจเรื่องราวของเขากัน

            โอตาคุ คืออะไร เป็นคำเรียกเฉพาะพวกคลั่งการ์ตูนเท่านั้นเหรอ ?

            คำว่า โอตาคุ (オタク) เป็นศัพท์ในภาษาญี่ปุ่น มาจากคำว่า Taku แปลว่าตรงตัวจะมีความหมายว่า บ้าน และนำเอาคำปัจจัย O (โอ) มาเติมหน้าตัวคันจิ Taku หมายถึง บ้านของคุณ เป็นคำสุภาพเป็นทางการอย่างมาก กระทั่งช่วงหลังเริ่มมีกระแสความนิยมในการ์ตูนและแอนิเมชั่นญี่ปุ่นมากขึ้น คนก็เริ่มนำมาใช้เรียกแทนคนที่คลั่งไคล้ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาก ๆ เปรียบเหมือนกับว่าคนกลุ่มนี้เอาแต่หมกมุ่นในสิ่งที่ตัวเองชอบอยู่แต่ในบ้าน ทั้งนี้อาจหมายถึงพวกคลั่งเกม หรือบ้างานมาก ๆ ก็ได้ ลักษณะคล้าย ๆ กับคำว่า มาเนีย (Mania) หรือแฟนพันธุ์แท้

            ทั้งนี้คนส่วนใหญ่จะนิยมใช้คำว่า โอตาคุ กับพวกที่บ้าการ์ตูนหรือแอนิเมชั่นญี่ปุ่น แต่ช่วงแรก ๆ คนมักจะมองคำนี้ในความหมายทางลบ เนื่องจากภาพลักษณ์ของคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ จะเป็นเพศชาย ตัวอ้วน ๆ สิวเขรอะ ๆ อาจใส่แว่น ผมเผ้ารุงรังไม่สระผม กลิ่นเหงื่อโชย เสื้อยืด กางเกงยีนส์ รองเท้าแตะ สะพายกระเป๋าเป้ แต่จริง ๆ แล้ว โอตาคุไม่จำเป็นต้องมีลักษณะดังกล่าวก็ได้ ซึ่งอาจเป็นคนที่หน้าตาดีก็มี และผู้หญิงก็สามารถเป็นโอตาคุได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่คนที่คลั่งไคล้การ์ตูนส่วนใหญ่มักจะเป็นเพศชายมากกว่านั่นเอง

            ดังนั้น โอตาคุ คือ กลุ่มบุคคลผู้ซึ่งลุ่มหลงในโลกแห่งการ์ตูน และแอนิเมชั่นอย่างมาก และกลุ่มคนเหล่านี้จะมีความสามารถในการเก็บเกี่ยวการ์ตูนหรือแอนิเมชั่นในระดับหายากมาครอบครอง และด้วยความหมกมุ่นอย่างหนักในโลกของแอนิเมชั่น ทำให้คนเหล่านี้ไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างเด็กผู้หญิงในชีวิตจริงกับในแอนิเมชั่นได้ ทำให้การรับรู้ด้านความสวยงามเกี่ยวกับผู้หญิงจริง ๆ สูญเสียไป เพราะโอตาคุจะคิดว่าเด็กผู้หญิงที่น่ารัก คือ ผู้ที่มีหูแมว หูสุนัข หูกระต่าย เท่านั้น


ภาพจาก dannychoo.com

            ขณะที่โวลเกอร์ กลาสมัค (Volker Grassmuck) นักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน ยังให้ความเห็นด้วยว่า กลุ่มคนที่เรียกว่า โอตาคุ มีสภาพร่างกายและจิตใจที่เปราะบาง แต่ไม่ใช่พวกอารมณ์รุนแรง เพียงแต่ขาดความมั่นใจในการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นสาเหตุให้เกิดการใช้คำพูดที่สุภาพเรียบร้อยเป็นพิเศษ เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำผิดที่ทำให้ขัดแย้งกับผู้อื่น

            ส่วนการใช้คำว่า โอตาคุ ในสิ่งตีพิมพ์ มีขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1983 โดยนักเขียนการ์ตูนล้อเลียนชื่อ นากาโมริ อากิโอะ (Nakamori Akio) เขาเขียนคอลัมน์ที่มีชื่อว่า โอทากุ โนะ เคงคิว (Otaku no kenkyu) ลงติดต่อกันในนิตยสารการ์ตูนแนวปลุกใจเสือป่าชื่อ มังงะ บุริกโกะ (Manga Burikko) โดยกล่าวถึงกลุ่มแฟนการ์ตูนที่เรียกกันและกันว่า โอตาคุ ทำให้เรียกคนพวกนี้รวม ๆ ว่า โอทากุ-โซกุ (Otaku-zoku) ซึ่งแปลว่า เผ่าพันธุ์โอตาคุ และต่อมาตัดเหลือเพียงคำว่า โอตาคุ และแม้ว่าคอลัมน์นี้จะถูกยกเลิกไปแล้วแต่สังคมก็นำคำนี้มาใช้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการสื่อมวลชน เนื่องจากพวกเขาเริ่มสังเกตเห็นถึงการเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็วของเยาวชนที่หมกมุ่นอยู่กับการ์ตูนและแอนิเมชั่น

            อีกทั้งได้มีการนำคำว่า โอตาคุ มาใช้ในแง่ลบ สืบเนื่องมาจากจากคดีของ มิยาซากิ สึโตะมุ(Miyazaki Tsutomu) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในญี่ปุ่น โดยในปี 1989 มิยาซากิ ได้ก่อคดีฆ่าหั่นศพเด็กผู้หญิง 4 คน อายุ 4-7 ปี ส่งผลให้ผู้คนเกิดความรู้สึกอคติทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะว่ามิยาซากิ สึโตะมุ ก็เป็นพวกโอตาคุ



            แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้เลวร้ายเสียหมด เพราะตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา โอตาคุ ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมของญี่ปุ่นก็ได้รับการยอมรับในระดับหนึ่ง เนื่องจากสังคมเข้าใจว่าพฤติกรรมแบบโอตาคุ มีหลายระดับและไม่ใช่สิ่งเสียหาย

            หลังจากรู้ความหมายและที่ไปที่มาของคำว่า โอตาคุ กันแล้ว ก็คงทราบว่าเป็นเพียงคำจำกัดความของกลุ่มคนที่ชอบและคลั่งไคล้สิ่งใดสิ่งหนึ่งมาก ๆ เท่านั้น ซึ่งแท้จริงแล้วการเป็นโอตาคุก็ไม่ใช่สิ่งผิด หากไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้สังคม เพราะธรรมชาติของคนเราก็มีความชอบที่แตกต่างกันไป และหากความชอบของแต่ละคนไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ส่วนรวมก็ถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความชอบเหมือนกันเท่านั้นเอง 


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
เฟซบุ๊ก Jitrakorn Kerdsilpbigvenarin.exteen.comuncyclopedia.infoวิกิพีเดีย
ขอบคุณ hilight.kapook

Leave a Reply

Subscribe to Posts | Subscribe to Comments

// Copyright © Elemental Toys //Anime-Note//Powered by Blogger // Designed by Johanes Djogan //